SSD คืออะไร? ไขข้อข้องใจ ตอนที่ 1 ทำความรู้จักกับ SSD ว่าแตกต่างจาก ฮาร์ดดิส อย่างไร?

SSD คืออะไร? แบบสั้นๆ

SSD ย่อมาจาก Solid State Drive คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในหมวดของ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD คืออุปกรณ์ที่ในปัจจุบันมีความสำคัญกับคอมพิวเตอร์มาก เพราะมีความเร็วยิ่งยวด มากกว่า HDD ถึง 20 30 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งเจ้า SSD นี้ก็มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน กว่าจะมาเป็นอุปกรณ์สำคัญแทนที่ HDD ได้ ถ้าให้เล่าก็สร้างเป็นหนัง จักรๆ วงๆ ได้เรื่องหนึ่งเลย (ละครพวกหนังเจ้าชาย กษัตริย์ ช่อง 7 ตอนเช้า) ถ้าพร้อมแล้วละก็ ไปดูกันครับ!

1. ต้องเริ่มจาก HDD คืออะไรก่อน?

HDD ย่อมาจาก Hard disk Drive (ฮาร์ดดิสไดร์) เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีอายุมาอย่างยาวนาน ถ้าเป็นตัวละครก็คือ ตัวละครขาโจ๋สุดเก๋า

โดยเจ้า HDD นี้ มีหน้าที่หลักๆ คือ จัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ (ไดร์ C ไดร์ D ที่พวกคุณใช้กันนั่นแหละ) โดยผู้ใช้จะบันทึกข้อมูลลงไป เช่น ไฟล์ word ไฟล์ ภาพ ไฟล์เสียง ไฟล์ Video รวมถึงไฟล์ระบบปฏิบัติการด้วย (เช่น Windows)

วิธีการเขียนไฟล์ลงไปในฮาร์ดดิสนั้น จะใช้วิธีการ เขียนข้อมูลลงบนจานหมุนโลหะ เคลือบสารแม่เหล็ก ที่อยู่ภายใน HDD โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี โดยที่ HDD นั้นทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่คอมพิวเตอร์จะขาดไม่ได้เป็นอันขาด HDD นั้นได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างมากตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ 

 

SSD คือ

 

HDD รุ่นแรกๆ ในปี 1956 นั้นมีขนาดใหญ่โตมโหราฬ และมีความจุที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก โดยมีความจุเพียง 5 MB เท่านั้น

HDD ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความที่เป็นอุปกรณ์ที่คอมพิวเตอร์ขาดไม่ได้ HDD จึงได้เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงในยุคที่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer : PC) เป็นที่ต้องการในครัวเรือน และมีราคาที่เอื้อมถึงได้ (แต่ก็ยังโคตรแพงสำหรับสมั้ยนั้น) จึงเป็นการบีบบังคับให้ HDD ต้องพัฒนามาให้ทันสมัยขึ้น

โดยเป้าหมายแรกเริ่มจาก เพิ่มความจุ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ขนาดจะต้องเล็กลง รวมถึงการเพิ่มความเร็ว จน HDD สามารถมีความจุ ขนาด และความเร็วที่สมเหตุสมผล เพื่อให้สามารถใช้ในคอมพิวเตอร์ PC  ได้ โดยหลังจากที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ PC ได้แล้ว การพัฒนา HDD ต่อ ก็เป็นไปอย่างทรงตัว ค่อยๆพัฒนาอย่างช้าๆ โดยความเปลี่ยนแปลงของ HDD หลังจากใช้ใน PC ได้แล้ว แบบสำคัญๆนั้น มีทั้งหมดเพียงแค่ประมาณ 6 ครั้งเท่านั้น

SSD คือ

ครั้งที่ 1 HDD มีขนาดที่เล็กลง คือ 3.5 นิ้ว และใช้การเชื่อมต่อแบบ IDE ด้วยสายแพรขนาด 40 เส้น มีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลอยู่ที่ 8.3 mb/s (1 วินาที ถ่ายโอนได้เพียง 8.3 mb) ความจุสูงสุดเพียง 504mb

ครั้งที่ 2 HDD มีการแบ่งขนาด โดย ขนาดสำหรับ PC คือ 3.5 นิ้ว และมีขนาดสำหรับคอมพิวเตอร์แล๊ปท๊อป หรือ คนไทยเรียกติดปากว่า โน๊ตบุคส์ เพิ่มเติมมาคือ 2.5 นิ้ว เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี E-IDE ด้วยสายแพรขนาดเหมือนเดิม แต่มีความเร็วในถ่ายโอนข้อมูลเพิ่มขึ้นคือ 133 mb/s เร็วกว่าเดิมมากกว่า 10 เท่า และมีความจุมากกว่าเดิม หลายร้อยเท่า โดย HDD แบบนี้เป็นที่นิยมใน PC เป็นอย่างมาก ผู้ใช้จะเรียกติดปากกันว่า HDD แบบ IDE

ครั้งที่  3 HDD แบบ IDE มีการเพิ่มขนาดที่เล็กลงไปอีกคือ 1.8 นิ้ว ใช้สำหรับอุปกรณ์ที่เล็กกว่า แล๊ปท๊อป อย่าง เน็ตบุคส์ แลปท๊อปขนาดพกพามากๆ และมีการเพิ่ม HDD แบบการเชื่อมต่อเทคโนโลยี SCSI โดย HDD แบบนี้จะมีการเชื่อมต่อที่ต้องใช้การ์ด SCSI สำหรับควบคุมการทำงานด้วย และเชื่อมต่อด้วยสายแพรแบบ SCSI โดย มีความเร็วสูงสุดคือ 320mb/s และมีรอบการหมุนมากขึ้นถึง 10,000 ถึง 15,000 รอบ และมีความจุสูง สามารถรองรับเทคโนโลยี RAID ได้ แต่สุดท้ายแล้ว HDD แบบ SCSI จึงเป็นที่นิยมสำหรับคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์เท่านั้น เนื่องจากมีราคาแพง

SSD คือ

 

ครั้งที่  4 การอัพเกรดครั้งใหญ่ อัพเกรดการเชื่อมต่อแบบ SATA

การอัพเกรดครั้งนี้ ยิ่งใหญ่ที่สุดในการอัพเกรด HDD เลยก็ว่าได้ เป็นการอัพเกรดสู่การเชื่อมต่อแบบ Serial ATA หรือ SATA เนื่องจาก การเชื่อมต่อแบบ IDE  นั้นไม่สามารถเพิ่มความเร็วได้มากกว่า 133mb/s แล้ว ทำให้การพัฒนา HDD เกิดทางตัน จนต้องเปลี่ยนการเชื่อมต่อเป็นแบบ SATA

โดยแรกเริ่มเจ้า SATA ในรุ่นที่ 1 นั้นมีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลไม่เกิน 150 mb/s และมีช่องความถี่สัญญาณเพิ่มอย่างมหาศาล ทำให้ HDD แบบ SATA เร็วขึ้นแบบเห็นได้ชัด แถมยังรองรับไดร์อื่นๆ อีกด้วย (เช่นไดร์ DVD) นอกจากนี้

ที่สำคัญที่สุดเลยคือ ประหยัดเนื้อที่ในการติดตั้ง เพราะการติดตั้ง HDD แบบ SATA แบบใหม่นี้ ประกอบไปด้วยสายสองเส้นเล็กๆ คือ สาย SATA และ สาย ไฟเลี้ยงเท่านั้น และยังไม่ต้องการทำการจัมป์ฮาร์ดดิส เพื่อตั้งค่า ลูกหลัก ลูกสองอีกด้วย เพราะสามารถตั้งค่าใน Bios ได้เลย รวมถึงสามารถใช้การเปลี่ยนแบบทันที Hot Swap อีกด้วย เมื่อเทียบกับสายแพรขนาดใหญ่รกรุงรังแล้ว ทำให้ในที่สุด HDD แบบ IDE ก็ตายไป SATA จึงเป็น การเชื่อมต่อที่ยอดนิยมในที่สุด

จุดจบของ HDD..

หลังจากการอัพเกรดครั้งใหญ่ HDD ก็มีการอัพเกรดเล็กน้อย เช่นการอัพเกรดการเชื่อมต่อแบบ SATA ในรุ่นที่ 2 โดยเป็นการอัพเกรดให้มีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 300 MB/s และมีความสเถียรมากขึ้น

และสุดท้าย คือการอัพเกรดเป็น Sata รุ่นที่ 3  มีความเร็วการถ่ายโอนเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า เป็น 600MB/s

แต่ทว่า ฮาร์ดดิส ก็พบปัญหาเรื่องการพยายามพัฒนาความเร็ว เพราะไม่ว่าจะอัพเกรดไปเท่าไหร่ ตัวฮาร์ดิสเองส่วนมากก็สามารถทำความเร็วในการหมุนจานได้ไม่เกิน 7200rpm เท่านั้น เพราะถ้าหากเกินนี้ฮาร์ดิสจะร้อนมากขึ้นและอาจเสียหายได้

นั่นหมายความว่า อัพเกรดเป็น Sata รุ่นใหม่ ก็ไม่ได้ช่วยให้ HDD นั้นเร็วขึ้นเลย ก็ยังคงถ่ายโอนข้อมูลได้เพียง 150MB/s อยู่ดีครับ HDD จึงอยู่ในจุดที่หยุดนิ่ง และไม่ได้พัฒนาในด้านของความเร็วเลยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยอาศัยความจุที่มากขึ้นแทน จาก 320GB ไปจนถึง 10TB และราคาที่ถูกลงมากขึ้น แต่กระนั้น มันเป็นเหมือนเรื่องตลกร้าย เพราะ HDD นั้นมีความจุเยอะมาก แต่ถึงจะมีความจุเยอะเพียงใด HDD ก็ไม่ได้ทำงานเร็วขึ้นเลย การเขียนข้อมูลในระดับ 1 GB ขึ้นไป จึงเขียนข้อมูลได้ช้ามากๆ ในขณะที่ตนเองมีความจุตั้งเยอะ แต่กลับเขียนข้อมูลได้เป็นเต่าคลาน และไม่ว่าจะพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่อมากเพียงใด ก็ติดตรงที่ฮาร์ดิสนั้นเป็นระบบจานหมุน ทำให้ไม่สามารถทำความเร็วได้มากกว่านี้แล้ว..

โดยปัญหานี้ เกิดในระดับองค์กรก่อน แล้วจึงเกิดกับระดับผู้ใช้ในภายหลัง เช่น เปิดปิดเครื่องช้ามาก (windows XP สมัยนั้นเปิดเครื่อง 30 นาทียังเคยมี) , ถ่ายโอนข้อมูลช้ามาก ยิ่งไฟล์ใหญ่ขนาด 1 GB ขึ้นไปนะ ทิ้งไว้ทั้งวัน , มีอัตราเร็วในการค้นหาข้อมูลและจัดเรียงข้อมูลต่ำ ทำให้ยิ่งใช้ไปนานๆ คอมพิวเตอร์ของคุณจะช้าลงเรื่อยๆ และหากไม่ทำการ Defragment Disk เลย ฮาร์ดดิสก็จะช้าลงขึ้นอีก และอาจจะเสียหายได้ในที่สุด 

 

เมื่อการพัฒนา HDD มาถึงทางตัน SSD จึงถือกำเนิด!!

 

ด้วยข้อจำกัดมากมายที่ทำให้การพัฒนา HDD ดูแล้วไม่สามารถพัฒนาขนาดให้เล็กลงกว่านี้ และมีความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกแล้ว เพราะยังติดกับการใช้จานหมุนอยู่ และ HDD  เองก็สำคัญ เพราะถ้าไม่มี HDD ก็จะไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ 

SSD จึงถูกเกิดมาเพื่อเป็นพระเอกคนต่อไป!!

 

2. SSD คือแนวคิดใหม่ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่?

SSD คือ

SSD คืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเช่นเดียวกันกับ HDD เพียงแต่ SSD หรือ Solid State Drive นั้นเป็นการเก็บข้อมูลแบบหน่วยความจำ ซึ่งใช้ชิปวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รวมๆกันทั้งหมดให้กลายเป็นหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลถาวร แทนการใช้จานหมุน

ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Ram เพียงแต่ Ram จะเป็นการเก็บข้อมูลชั่วคราวเท่านั้น  โดย SSD นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะการใช้หน่วยความจำนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่  ปี 1978 เทคโนโลยีหน่วยความจำแบบ Flash ที่เรียกกันติดปากว่า Flash Drive หรือ Handy Drive รวมถึงพวก Memory Card อย่าง SD Card , SHD Card , Memory Stick ด้วย

แต่จุดประสงค์ของอุปกรณ์เหล่านี้ คือต้องการใช้ในการเก็บข้อมูลแบบชั่วคราวถึงถาวรเท่านั้น หมายความว่า เป็นการใช้การเชื่อมต่อแบบ USB เพื่อเขียนและเก็บข้อมูลภายในไดร์ เพื่อนำไปถ่ายโอนข้อมูลสับไปมาระหว่างเครื่องเท่านั้น แต่หากจะเก็บถาวรก็เก็บถาวรได้ แต่จะมีความจุที่ไม่มากเท่ากับ HDD และมีความเร็วต่ำ เนื่องจากเชื่อมต่อแบบ USB

 

SSD จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อการเชื่อมต่อแบบ Serial ATA โดยเฉพาะ

 

SSD นั้นใช้พื้นฐานจาก Flash Drive ด้วยการใช้ชิปวงจรเดียวกัน (NAND FLASH) และอัพเกรดขึ้นให้สามารถเชื่อมต่อโดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อแบบ Sata รุ่นที่ 3 เพราะ HDD นั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก SATA 3  ที่มีเสปคการอ่านเขียนข้อมูลคือ 600MB/s ได้อย่างเต็มสเปคเลย SSD จึงถูกพัฒนาในขั้นแรก เพื่อดึงประสิทธิภาพการเชื่อมต่อแบบ SATA 3 ให้ได้มากที่สุด

เพราะการที่ SSD นั้นทำงานแบบหน่วยความจำ จึงทำให้ไม่ต้องยึดติดกับจานหมุนต่อไปแล้ว ซึ่งมันน่าทึ่งมาก!! เพราะรุ่นแรกๆ สามารถทำความเร็วได้มากถึง 450MB/s ซึ่งมากกว่า HDD ราวๆ 4 เท่า!!

แต่ข้อจำกัดของ SSD นั้นมีมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิปวงจรที่มีราคาแพงกว่าจานหมุน , จำนวนครั้งในการเขียนข้อมูลที่มีจำกัด , ความจุที่ยังไม่มาก ทำให้ SSD ที่ออกสู่ตลาดตัวแรก มีความจุเพียง 20MB เท่านั้น (ติดตั้งวินโดว์ ยังไม่ได้เลย) และที่สำคัญที่สุดคือมีราคาแพงมาก ทำให้ในยุคสมัยที่ SSD เริ่มวางขาย จึงไม่เป็นที่นิยม และเป็นอุปกรณ์ลูกเมียน้อยแท้ๆ คือไม่จำเป็นต้องมีมัน ก็ประกอบคอมโดยใช้ HDD แบบเดิมก็ได้

 

3. SSD เบื้องต้นนั้น ดีกว่า HDD อย่างไร?

ก่อนพูดถึงตอนนี้ ขอพูดถึงประสบการณ์ตรงของแอดเลย ในยุคสมัยที่แอด ได้ลองใช้ SSD ครั้งแรก! เชื่อไหมครับว่า ไม่มีคนรู้จักคนไหนของแอด รู้จัก SSD เลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์!

ตอนนั้น มีร้านคอม เอามาขาย 60GB ราวๆ 5000 บาท น่าจะเป็นช่วงปีราวๆ  2013 – 2014 แอดมีคำถามในหัวมากมายเกี่ยวกับ SSD เพราะความจุของมันน้อยมาก ลงวินโดว์ ก็เต็มแล้ว ราคาก็แพงกว่า HDD หลายเท่า ราคานี้สามารถซื้อ HDD ความจุ 2 TB ได้เลย เพราะความสงสัยและอยากรู้อยากลอง

จึงได้เสี่ยงกำเงิน ซื้อ SSD มาลอง แล้วแอดก็ค้นพบว่า

คำว่าว้าว มันเป็นอย่างไร!!!

SSD คือ

SSD ที่แอดได้ลองใช้รุ่นแรก คือ Intel จำไม่ได้แล้วว่ารุ่นไหน อาจจะเป็นรุ่น 330 แต่การได้ลองในครั้งนั้น แอดถือว่าเงิน ครึ่งหมื่นที่จ่ายไป มันมอบประสบการณ์ราคาแพงให้แอดไว้มาก และเป็นสิ่งที่แอดนำมาเขียนด้วยประสบการณ์ของแอดเลย ก็ว่าได้

 

แต่ก่อนพูดถึงข้อดี ขอพูดถึงจุดที่แตกต่างแบบพื้นฐานของ SSD กับ HDD ก่อน

  •  มีความจุน้อยกว่า HDD มากๆ มีราคาที่แพงกว่ามากๆ มันอาจจะไม่คุ้มสำหรับคนที่จัดสเปคในสมัยนั้น เพราะ HDD ก็ยังสามารถใช้งานได้ และส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้จัก SSD

  • ใช้การเชื่อมต่อแบบ SATA 3.0 (600 Mb/s) และมีขนาด 2.5 นิ้วเท่ากับ HDD โน๊ตบุคส์ แต่มีความบาง และน้ำหนักเบากว่า HDD อยู่ค่อนข้างมาก และมีความถึกทน ไม่ว่าเราจะโยนมัน หรือทำมันตก ก็ไม่สามารถพังได้ ในขณะที่ HDD อย่าได้ทำตกเชียว! เพราะมันจะทำให้ จานหมุนเคลื่อนและขูดกัน ทำให้ข้อมูลเสียหาย และฮาร์ดดิสพัง (และเกิด Bad Sector) ได้เลย

  • SSD แบบ SATA มีความเร็วในการอ่านเขียนอยู่ราวๆ 450MB/s 500MB/s ความเร็วมากกว่า HDD ราวๆ 4 เท่า ด้วยความเร็วขนาดนี้ มันจะทำให้ประสบการณ์การใช้งานของคุณเปลี่ยนไป!

     

โดยแอดได้ทำการจดบันทึกความแตกต่างของ SSD กับ HDD ในสมัยนั้น หลังจากได้ลองใช้งานราวๆ 2 เดือน พบว่า

 

  •  แอดได้ทำการลงวินโดว์ใน SSD พบว่า ลงสามารถลง Windows ได้เสร็จแล้วกว่า HDD มากๆ จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เหลือประมาณ ไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น

  • การบูทเครื่องเร็วยังกับจรวด (ในสมัยนั้น) นับตั้งแต่เวลากดปุ้บเปิดเครื่อง ทำเวลาได้ราวๆ 19 วินาที จากเดิมที่ประมาณ 2-5 นาที ซึ่งมันเป็นอะไรที่ อเมซิ่งมากๆเลยครับ เพราะว่ามันทำให้การเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นมากแบบโคตรๆ แอดกลายเป็นคนใจร้อนขึ้นเยอะ เวลาไปใช้เครื่องอื่นในสมัยนั้น หัวร้อนเลยเปิดเครื่องอะไร 5 นาทีวะ! (ฮาาา)

  • ด้วยความเร็วและการอ่านเขียนแบบไร้ซึ่งคอขวด ทำให้ SSD สามารถดึงพลังของ CPU ได้เต็มที่ หากมี CPU เทพๆ ที่สามารถทำงานแบบ Multi Tasking อย่าง Intel Core I7 จะทำให้การทำงานของคุณไร้ซึ่งที่ติเลยทีเดียว เพราะแต่ก่อน HDD ได้ชื่อว่าเป็นตัวถ่วงของอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอุปกรณ์คอมที่ช้าที่สุด และทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ในสมัยนั้น เวลาจะทำงานหลายๆอย่าง เช่น ใช้โปรแกรม Photoshop ไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย เปิด Word ไปด้วย ค้นหาข้อมูลใน Google Chrome ไปด้วยก็ต้องรอ HDD อ่านเขียนให้เสร็จทีละอย่าง บางที ก็ช้ามากๆกว่าจะเปิดอะไรก็ตาม หรือ แฮงค์ ค้างบ้าง ทำให้ชวนหงุดหงิด

  • แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ SSD แล้ว ปัญหาเหล่านั้นจะหายไปทันที สามารถสลับหน้าจอได้อย่างใจนึก ไม่มีอาการช้าแต่อย่างใด จะเปิดโครมกี่แท๊บก็ตาม (ram ต้องเยอะด้วยนะ)  จะเล่นเกมไปด้วย ย่อหน้าจอลงมาฟัง youtube ด้วยก็สามารถทำได้โดยไม่มีการดีเลย์เลย แถมไม่มีอาการแฮงค์เลย โหลดแมพในเกมได้เร็วขึ้นอีก อันนี้เห็นชัดเลย ผู้ใหญ่สมัยก่อน ชอบสอนว่า เวลาเปิดคอมพิวเตอร์ให้รอสัก 2-3 นาที ให้คอมพิวเตอร์พร้อมใช้งานก่อน ถึงจะเปิดโปรแกรมได้ แต่ถ้าเป็น SSD ละก็ เปิดคอมมาปุ้บก็เปิดเกมเล่นได้ทันที! 

  • การคัดลอกไฟล์ ถ่ายโอนไฟล์เร็วขึ้นกว่าเดิมแบบมากๆ ถ้าถ่ายโอนระหว่างในไดร์เดียวกัน (SSD ไป SSD) ไฟล์ 1GB สามารถถ่ายโอนประมาณ 3 วิเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เร็วแบบน่าพอใจขนาดนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าการถ่ายโอนส่วนใหญ่ เป็นการถ่ายโอนข้ามไปมาระหว่าง SSD และ HDD ทำให้มีปัญหาคอขวดเนื่องจาก SSD ส่งข้อมูลได้ 500MB/s แต่ HDD รับได้เพียง 130MB/s

  • SSD มีอายุในการอ่านเขียนข้อมูล ในขณะที่ HDD จะเขียนเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีลิมิทในการเขียนครับ ทำให้ระยะยาว HDD สามารถเขียนข้อมูลได้ยาวนานกว่า (แต่ไม่ได้แปลว่าพังไม่ได้นะ) และผลข้างเคียงยังคล้ายกัน คือ HDD เมื่อเขียนข้อมูลไปนานๆ มากๆ เข้า  จะทำให้ คอมเราช้าลงเรื่อยๆ แต่สามารถแก้ปัญหาด้วยการ Defragment Disk ได้ ทำให้เร็วขึ้นมานิดนึง ส่วนเจ้า SSD เองก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เนื่องจากมีจำนวนการเขียนข้อมูลที่จำกัดอยู่ เช่น เขียนได้ไม่เกิน 50 ล้านครั้ง หากยิ่งเขียนเข้าใกล้ลิมิทมากเท่าไหร่ จะทำให้ SSD นั้นช้าลงทันที ช้าแบบรู้สึกได้เลย และไม่สามารถแก้ด้วยการ Defragment Disk ได้ เพราะการ Defragment SSD Disk จะทำให้ SSD ยิ่งนับจำนวนเขียนข้อมูลเพิ่มมากขึ้นไปอีก และทำให้พังไวกว่าเดิม

  • SSD บทจะพังก็พังเลย! ข้อมูลหายหมดทันที ในขณะที่ HDD จะค่อยๆส่งสัญญาณว่า ใกล้จะพังแล้วนะ ควรรีบสำรองข้อมูลได้แล้ว นั่นทำให้ แอดใช้ SSD ในการรันวินโดว์อย่างเดียว เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และใช้ HDD ในการเก็บข้อมูลที่สำคัญ เพราะไว้ใจ HDD มากกว่า [แต่ SSD ก็ไม่ได้พังง่ายขนาดนั้นนะ]

SSD คือ

4. SSD ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

ตัดกลับมาที่ภาพปัจจุบัน ตอนนี้ SSD เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้รับการนิยมอย่างมาก ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์

SSD ในตอนนี้ เป็นที่รู้จักกันอย่างมาก ไม่ว่าใครก็รู้จัก SSD มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เคยมีประสบการณ์กับ SSD เลย แม้แต่คอมประกอบเองก็ขาด SSD ไม่ได้ หรือโน๊ตบุคส์ในสมัยนี้ ก็ติดตั้ง SSD มาจากโรงงานเลย บางแบรนด์ ตัด HDD ทิ้งไปเลยก็มีครับ แสดงให้เห็นแล้วว่า SSD นั้นมาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญแทน  HDD ไปแล้ว บริษัทแห่งวงการ HDD อย่าง Seagate และ WD ก็ปรับตัวและหันมาขาย SSD แล้วด้วย (แต่ HDD ก็ยังสำคัญและขายได้อยู่นะ)

เพราะ Windows 10 จำเป็นต้องใช้พลังความเร็วของ SSD หากใช้ HDD อาจจะเกิดปัญหากับ windows 10 และจะช้ามากๆด้วยครับ และ SSD นั้นราคาถูกลงและความจุเพิ่มขึ้น ความจุ 1 TB สามารถเอื้อมถึงแล้ว

รวมๆแล้วเป็นเวลาไม่ใช่น้อยเลย ที่  SSD ต้องฝ่าฟันกว่าจะมาเป็น อุปกรณ์หลักในเครื่องคอมพิวเตอร์ แทนที่ HDD ได้ โดย SSD นั้นเติบโตขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปีที่มีวางขายในร้านทั่วไปราวๆ  10 ปี ที่ SSD มียอดขายที่เติบโตขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย

และ SSD นั้นได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง ทั้งความเร็ว ขนาด การเชื่อมต่อ ความจุ ราคา มากมาย จนปัจจุบัน HDD แทบจะพบจุดจบของตนเองแล้ว (แต่ก็ยัง)

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลของบทความนี้ อาจจะทำให้ทุกคนได้รู้จัก SSD มากขึ้น ได้รู้จัก HDD ได้ความรู้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ ประโยชน์ และความแตกต่างของ SSD กับ HDD ไปได้มากเลยทีเดียว  โดยปัจจุบันนี้  SSD นั้นได้มีรายละเอียดเชิงลึกเพิ่มอีกเยอะ ทั้งการพัฒนามาก และแบ่งประเภทของ SSD ที่มากขึ้น และมีวิธีการติดตั้ง ใช้งาน ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถอ่านต่อ ได้ในบทความ

>> ไขข้อข้องใจตอนที่ 2 SSD มีกี่แบบ? แล้วแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร เข้าไปอ่านต่อกันได้เลยนะครับ ^^

อย่าลืมกดไลค์และกดติดตาม ในเฟสบุคส์ >> GagangTech   และ Youtube  GagangTech จะได้ไม่พลาดข่าวสารและกิจกรรมดีๆ นะครับ 

 

 

 

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.